ฉันมุ่งหมายมาฟันฝ่าอุปสรรค
มาด้วยใจรักจักสร้างผลงานยิ่งใหญ่
ปิโตรเคมีเป็นศักดิ์เป็นศรีชาวไทย
ฝากผลงานไว้ให้เพื่อชาติไทยได้พัฒนา
เขียนกลอนนี้ไว้ตอนเข้าไปทำงานที่มาบตาพุดเมื่อต้นปี 2530 ในฐานะผู้จัดการก่อสร้างโรงโอเลฟินส์ (โรงงานผลิตสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติกหลากหลายชนิด) แห่งแรกของประเทศไทย ของบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (NPC) โรงงานแห่งนี้ใช้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนบางส่วนที่อยู่ในก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบ หลังก่อสร้างเสร็จก็ทำงานอยู่ในโรงงานอีกหลายปีจนปลดเกษียณเมื่อสิ้นปี 2550
บรรพชน NPC พยายามปลูกฝังให้พนักงานทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ให้ช่วยกันดูแลรักษา ไม่ทำลาย ทั้งยังปรับปรุงให้ดีขึ้น มีหลักฐานให้เห็นที่โรงงานจนถึงทุกวันนี้ แขกไปใครมาก็จะชื่นชอบบรรยากาศโรงงานที่ร่มรื่นไปด้วยไม้ดอก ไม้ใบ นานาชนิด
นอกจาก NPC แล้วโรงงานอื่นๆในมาบตาพุดก็ต่างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก่อนสร้างโรงงานก็ต้องจัดทำ Environmental Impact Assessment (EIA) ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณา กว่าจะผ่านได้ก็แทบแย่ต้องชี้แจงกันแล้ว ชี้แจงกันอีก ดำเนินการผลิตแล้วทุกรายต่างดำเนินการเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม (ISO14001) เพื่อยืนยันว่าไม่ได้ปล่อยปะละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อม
การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษเมื่อเร็วๆนี้โรงงานที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วยังคงดำเนินการต่อไป แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับโรงงานที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จได้ข่าวว่ากำลังมีปัญหาเนื่องจากไม่มีผู้ใดกล้าลงนามอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้เพราะยังสับสนกับกฎบัตร กฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ ปัญหานี้จะขยายวงกว้างขึ้นเนื่องจากจะมีอีกหลายโรงงานก่อสร้างเสร็จตามมา ถ้าไม่มีการแก้ไขในที่สุดมาบตาพุดจะเป็นที่ตั้งของโรงงานร้างที่อยู่ในสภาพใหม่เอี่ยมหลายโรง เป็นการเอาเงินทุนจำนวนมหาศาลนับแสนล้านบาทมากองไว้เฉยๆใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทั้งยังต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยจากการดูแลโรงงาน และ ดอกเบี้ยเงินกู้
อุตสาหกรรมสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ ทางราชการจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำรายงาน EIA ก่อนสร้างโรงงาน เพื่อศึกษาว่ามีผลกระทบอย่างไร และ แก้ไขอย่างไร ไม่ใช่ใครนึกอยากจะสร้างก็สร้าง ถ้า EIA ไม่ผ่านก็สร้างไม่ได้ เมื่อให้สร้างแล้วไม่ให้เขาใช้งานก็เสียหาย ไม่รู้มีใครคิดถึงบ้างหรือเปล่า หรือ คิดเหมือนกันแต่คิดว่าธุระไม่ใช่ ผู้ประกอบการกำลังมึน หาทางออกไม่เจอ ผู้เขียนก็มึนไปกับเขาด้วย เลยต้องจบ แต่เมื่อขึ้นต้นด้วยกลอนก็ขอจบด้วยกลอน
โอ้ว่าอนิจจามาบตาพุด
ถึงคราสิ้นสุดอุตสาหกรรมใหญ่
ด้วยผู้คนทั้งหลายไม่พอใจ
ต่างพากันผลักใสไม่ใยดี
มิถุนายน 8, 2009 ที่ 11:05 am
ถ้าสร้างเสร็จแล้วไม่สามารถประกอบการได้ ก็เป็นเรื่องที่
น่าเป็นห่วงนะครับ เพราะเราต้องวางงบประมาณก้อนโต
ทิ้งไว้โดยที่ไม่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าได้ จริงอยู่ครับ
ที่การประกอบการด้านอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้มาตรการลดผลกระทบ
ต่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ก็สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง อยู่ที่ว่าเราจะใส่ใจมากน้อยแค่ไหน
หนึ่งโรงงานที่สร้างขึ้นทำให้หลายชีวิตมีรายได้ตามมา กระผมหวังว่า
ทุกท่านที่เกี่ยวข้องน่าจะหาทางออกร่วมกันได้เร็วๆนะครับ
มิถุนายน 8, 2009 ที่ 5:20 pm
การหาทางออกร่วมกันตามที่วิศวกรน้อยว่านั้นเป็น Key word สำหรับกรณีนี้ กล่าวคือต้องบูรณาการมุมมองที่หลากหลายเข้าด้วยกัน แล้วหาทางออกที่พอจะยอมรับได้ของทุกภาคส่วน เป็นทางออกที่ไม่มีใครได้ทั้งหมด หรือ เสียทั้งหมด และ ต้องดำเนินการโดยไว ไม่อย่างนั้นประเทศชาติไปไม่รอดแน่
มิถุนายน 20, 2009 ที่ 10:34 pm
เรียนพี่ยนต์
มอบแบบพุทธ ก็คงเป้นเพราะกรรมเก่าได้ไหมครับ
ถ้าไม่มีการล้ำเส้นของผังเมืองเดิม ที่มีการกันบริเวณเขตกันชน ระหว่างชุมชน กับเขตอุตสาหกรรม ก็คงไม่มีการกระทบกระทั่งกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
โรงงานที่สร้างใหม่ ช่วงหลังๆ มาสร้างในแนวเขตกันชน ทั้งสิ้น แม้ว่าจะมีเทคโนโลยี่ใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม และรักษาคุณภาพสิ่แวดล้อมได้ดีกว่า ก็ตามที แต่เมื่อสร้างมากๆ ผลรวมก็น่าคิดว่า สภาพแวดล้อมจะรับไว้ไหม
เมื่อวันศุกร์มีการไปยืนศาลปกครองกลาง ขอให้มีการเพิกถอน EIA โรงงานที่ได้ EIA หลังมีรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งมีการบังคับว่าต้องมีการทำ HIA ด้วย
ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็มีผลกระทบมหาศาลเลย งานที่กำลังก่อสร้างอยู่จะต้องหยุดไหม คนงานจะตกงานเพิ่มไหม นักลงทุนจะย้ายฐานไปประเทศอื่นไหม (เช่นเดียวกับ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ย้ายไปอยู่รอบๆ ไทยเรา และเราก็ต้องไปซื้อไฟแพงๆ เข้ามา เคยได้ยินข่าวว่า เวียดนามจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เสร็จอีก 7-8 ปีข้างหน้าแล้ว แต่ไทยเรายังหาที่ลงไม่ได้เลย)
สรุป NGO คงบรรลุเป้าหมาย “อะไร” บางอย่าง ส่วนเราคงรับกรรมกันไปครับ
มิถุนายน 21, 2009 ที่ 8:23 pm
ทุกคนมีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณที่บริโภค แทนที่จะโทษกันไปโทษกันมาหันหน้ามาช่วยกันดีกว่า
มิถุนายน 21, 2009 ที่ 8:43 pm
ก้อเห้นด้วยครับที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา แต่การฟ้องศาลจะช่วยแก้ปัญหาหรือเปล่าครับ
มิถุนายน 22, 2009 ที่ 10:20 am
คงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
มิถุนายน 22, 2009 ที่ 10:34 am
แล้วต้นเหตุของปัญหานี้ คืออะไรครับ
มิถุนายน 22, 2009 ที่ 1:37 pm
ต้นเหตุอยู่ที่คนสองคน คนหนึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า อีกคนหนึ่งเป็นผู้ใช้สินค้า การแก้ปัญหาก็ต้องสองคนนี่แหละช่วยกัน จะช่วยกันยังไงติดตามอ่านในบทความเรื่องสิ่งแวดล้อม (5) เร็วๆนี้
มิถุนายน 22, 2009 ที่ 10:08 pm
มารออ่านครับ เร็วๆ จริงๆ นะครับ อยากอ่านมากเลยครับ 🙂