GDP ชาวบ้าน (8) – บัญชี (ต่ออีกหน่อย)

แนะนำไปสองบัญชีในสองบทความที่แล้ว จะยุติเพียงแค่นั้นก็กระไรอยู่ เพราะยังมีบัญชีสำคัญที่ยังไม่ได้พูดถึงคือ “บัญชีกระแสเงินสด” เรื่องบัญชีเลยต้องมีต่ออีกหน่อย

คงไม่มีใครปฏิเสธถ้าจะบอกว่า “เงินสด” เป็นทรัพย์ที่สำคัญในการดำรงชีวิต สำคัญถึงขั้นทำให้อดตายได้ถ้าขาดทรัพย์ชนิดนี้ เพราะข้าวปลาอาหารต้องใช้เงินซื้อ บัตรเครดิตก็ใช่ว่าเขาจะรับทุกร้าน ถึงใช้ได้พอสิ้นเดือนก็ต้องเอาเงินสดไปชำระ ถ้าจ่ายไม่ครบก็เจอดอกเบี้ยมหาโหด     

ทำนองเดียวกันสำหรับการดำเนินธุรกิจ เงินสดขาดมือ หรือ “ขาดสภาพคล่อง” ถือว่าเป็นปัญหาร้ายแรงถึงขั้นต้องปิดกิจการ ครูบาอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารรุ่นพี่ จึงเตือนนักเตือนหนาให้ระมัดระวัง โดยมักพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า “Cash is king”    

รัฐบาลขาดเงินสดก็บริหารประเทศไม่ได้ ในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองเก็บภาษี (รายได้หลัก) ได้น้อย รัฐมนตรีคลังต้องวิ่งเท้าขวิดหาเงิน ทั้งจากแหล่งในประเทศ และ ต่างประเทศ (แหล่งหลังนี่ส่วนใหญ่ดอกเบี้ยถูกแต่จะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน) เพื่อมาเสริมรายรับควบคู่กับมาตรการรัดเข็มขัด

เมื่อเงินสดสำคัญถึงขนาดนี้ก็ต้องศึกษาถึงที่มาที่ไปของเงินกันหน่อย และ บัญชีทั้งหลายที่กล่าวมารวมถึงบัญชีกระแสเงินสดช่วยทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวของเงินได้     

บัญชีกระแสเงินสดประกอบด้วยข้อมูลสามบรรทัดเช่นเดียวกับสองบัญชีที่ผ่านมา บรรทัดแรกบันทึก “เงินสดเข้า” บรรทัดที่สองบันทึก “เงินสดออก” และ บรรทัดที่สามเกิดจากเอาบรรทัดที่สองไปลบบรรทัดที่หนึ่ง ปัญหาขาดสภาพคล่องจะไม่เกิดถ้าผู้บริหารสามารถทำให้ตัวเลขในบรรทัดที่สามนี้เป็นบวกอยู่เสมอ   

ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นบัญชีกระแสเงินสด ดังนั้นจำนวนเงินที่จะนำมาลงในบัญชีนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านเข้า หรือ ด้านออก ต้องเป็นเงินสดเท่านั้น ค่าสินค้าที่ขายได้ และ ออกใบเรียกเก็บเงินแล้ว แต่ยังไม่ถึงกำหนดรับเงิน หรือ ลูกค้าผิดชำระ แม้จะลงเป็นรายรับในบัญชีกำไรขาดทุนได้ แต่ลงเป็นเงินเข้าในบัญชีกระแสเงินสดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้บางบริษัทแม้มีกำไรแต่ก็อาจมีปัญหาขาดสภาพคล่องได้ 

เหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ขาดสภาพคล่องคือการนำเงินกู้ที่มีกำหนดชำระคืนในระยะสั้น มาใช้ลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนในอนาคตที่ยาวไกล เป็นการจับคู่เงินเข้ากับเงินออกที่ผิดพลาด 

ค่าสินค้าที่ซื้อมาแล้วยังไม่จ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด (ค่าเสื่อมราคา) แม้จะลงเป็นรายจ่ายในบัญชีกำไรขาดทุน แต่จะลงเป็นเงินออกในบัญชีกระแสเงินสดยังไม่ได้ เป็นเหตุให้บางบริษัทแม้จะขาดทุนแต่ยังมีเงินสดหมุนเวียนที่ทำให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ (อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง)  

การแก้ปัญหาสภาพคล่องที่เห็นทำกันเป็นประจำคือ “วิ่ง” ไม่ใช่วิ่งออกกำลังกาย หรือ วิ่งแข่งขัน แต่เป็นการวิ่งไล่ทวงหนี้ (เร่งรัดเงินเข้า) หรือไม่ก็วิ่งหนีเจ้าหนี้ (ชะลอเงินออก) และ อีกอย่างหนึ่งวิ่งเหมือนกันคือวิ่งหาเงินกู้ (ทั้งในระบบ นอกระบบ) ซึ่งทั้งหมดเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยมาก  

สรุปว่าดีที่สุดคือไม่ไปเกี่ยวข้องกับหนี้ (โดยไม่จำเป็น) ไม่ว่าจะในสถานะลูกหนี้ หรือ เจ้าหนี้ เป็นลูกหนี้ไม่ต้องพูดถึงเพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นทุกข์ เป็นเจ้าหนี้ดูเหมือนจะดี แต่ถ้าเจอลูกหนี้ไม่ดีก็เหนื่อย ร้านขายของชำบางร้านจึงติดป้าย “จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวง”

ใส่ความเห็น