เลิกบีบน้ำตา แล้วรีบส่งน้ำกลับบ้านเสียที

พฤศจิกายน 7, 2011

เห็นภาพนางบีบน้ำตาออกทีวีแล้วเกือบเคลิ้ม

แต่มานึกได้ว่าใครหว่าควรหลั่งน้ำตา

มิใช่ประชาชนผู้เดือดร้อนแสนสาหัสจากน้ำท่วมดอกหรือ

ขอเถอะอย่ามาบอกว่าน้ำมันเยอะ

ชาวบ้านเขารู้กันหมดแล้ว

แต่สิ่งที่เขาข้องใจคือ มัวทำอะไรกันอยู่

ไม่ผันน้ำด้านตะวันออกไปให้สูบลงทะเลเสียที

สถานีสูบน้ำที่สมุทรปราการยืนกวักมือเรียกมาเป็นแรมเดือนแล้ว

ปล่อยให้รอแห้งอยู่ได้

แสดงความเป็นผู้นำหน่อย (ถ้ามีปัญญา)

เลิกบีบน้ำตา แล้วรีบส่งน้ำกลับบ้านเสียที

ดีใจสุดขีด

ตุลาคม 29, 2011

ดีใจสุดขีด แปลว่าดีใจมากด้วยการแสดงออกนอกหน้า แบบกลั้นไม่อยู่

ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์หาเรื่องดีๆของบางคนมานำเสนอเป็นข่าวไม่ได้ เพราะวันๆทำแต่เรื่องไม่เอาไหน ครั้นมีข่าวที่คิดว่าเป็นบวก จึงรีบเอามาพาดหัวใหญ่โตเหมือนกับจะดีใจสุดขีด (อย่างในภาพข้างบน)

เสียดายข่าวทำนองนี้มาช้าจัง ถ้ามาเร็วกว่านี้สักหน่อยชาวบ้านคงไม่เครียดกันมากมายขนาดนี้

แล้วเช้านี้พี่เขาก็คืบคลานเข้ามา….

ตุลาคม 28, 2011

หลังจากวุ่นวายใจ ลุ้นระทึก และ เครียดมาหลายวัน (คงรู้นะครับว่าเพราะอะไร)

แล้วเช้านี้พี่เขาก็คืบคลานเข้ามาให้เห็นโดยผ่านทางท่อระบายน้ำข้างถนนสุขาภิบาลห้า ช่วงที่ผ่านหมู่บ้านชัยพฤกษ์ รามอินทรา

ภาพนี้ถ่ายตอนเย็นใกล้ค่ำ

ซ้ายมือของถนนตอนกลางๆของภาพเป็นด้านหลังของกองบินตำรวจ (ด้านหน้ากองบินฯเป็นถนนรามอินทรา)

“ยินดีต้อนรับครับ และ ขอบพระคุณที่กรุณามาเยี่ยมเยียน แต่ได้โปรดเมตตาต่อข้าน้อยตาดำๆ (และ เพื่อนร่วมชะตากรรม) ขอเชิญพี่ท่านเดินทางต่อไปสู่ทะเลกว้างอันเป็นนิวาสถานแสนสุขของท่านเถอะครับ”

นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรหนอ คงต้องลุ้นระทึกกันต่อไป หลับฝันดีนะครับท่านนายกรัฐมนตรี

สามนารีสามมุม กับ อนาคตประเทศไทย

ตุลาคม 25, 2011

นารีหนึ่งนายกฯมือใหม่หัดขับ (ว่ากันว่าการเข้าสู่ตำแหน่งของนางเกิดจากการผลักดันของผู้มีบารมีนอกประเทศ) งานเลี้ยงฉลองชัยยังไม่ทันเลิกราก็เกิดมหาอุทกภัย ทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อนแสนสาหัส ชาวไทยก็เลยได้เห็นฝีไม้ลายมือของนาง (เป็นอย่างไรไม่ขอวิจารณ์) คำพูดที่ชาวบ้านได้ยินบ่อยๆในช่วงนี้ก็คือ เอาอยู่ (ที่ไหนบอกว่าเอาอยู่ พังหมด) ไม่เล่นการเมือง (ไม่รู้ตัวว่าเล่นอะไร) และ บูรณาการ

นารีสองสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่หายหน้าหายตาไป (จากจอทีวี) นาน วันก่อนออกมาสรรเสริญเยินยอนารีหนึ่งเสียเลิศลอย ว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เจ๋ง ในรายการของกรรมกรข่าว (สรยุทธฯ) โดยมิวายตำหนิติเตียนคนอื่นว่าไม่ให้ความร่วมมือ

นารีสามผู้เคยเข้าป่าไปอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่ม นปช. ที่ประกาศว่าคนเสื้อแดงยึดพรรคการเมืองพรรคหนึ่งได้แล้ว กำลังขะมักเขม้นกับการเผยแพร่ลัทธิที่นางเรียกว่าประชาธิปไตย  พร้อมๆกับตอกลิ่มความแตกแยกคนในชาติด้วยการเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงไปทั่วประเทศ

เห็นสามนารีสามมุมแล้ว พอจะมองเห็นอนาคตประเทศไทยไหมครับพี่น้อง

ปีที่แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามทำให้ประเทศไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Fail state) เพื่อเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย โชคดีที่ยังเอาอยู่

เรื่องนั้นผ่านไปแล้ว สิ่งที่น่าสพึงกลัวยิ่งกว่ากำลังคืบคลานเข้ามา มันคือรัฐแห่งความสิ้นหวัง (Hopeless state) คราวนี้ไม่รู้จะเอาอยู่หรือเปล่า

ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ท

ปฏิวัติ

ตุลาคม 22, 2011

นับจากปี 2475 เป็นต้นมามีการปฏิวัติรัฐประหารโดยทหาร (ถ้าไม่ใช่ทหารแล้วใครจะทำ ฮา) เกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา บ่อยจนจำกันไม่หวาดไม่ไหว ข้ออ้างที่ต้องปฏิวัติมีหลากหลาย โดยมีนักการเมืองโกงเป็นสาเหตุร่วม

ดูจากเหตุที่ปฏิวัติกันไม่หยุดไม่หย่อนแล้ว อดคิดไม่ได้ว่านักการเมืองไทยนี่มันขี้โกงกันเสียจริง ทีแรกก็สงสัยทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เมื่อมาดูผลสำรวจของสำนักโพลชื่อดังที่พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รังเกียจนักการเมืองโกง (ขอให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ด้วย) ก็เลยเลิกสงสัย

ช่วงนี้มีการพูดถึงปฏิวัติกันหนาหู แต่ฟังๆดูแล้วไร้สาระเสียมากกว่า อย่างเช่นน้ำท่วมใหญ่สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสไปทั่ว รัฐบาลเข้ามาใหม่ก็ทำเก้กัง ยักแย่ยักยัน ทำอะไรไม่ถูก นายกฯเองถึงกับบ่นกับคนใกล้ชิดว่าท้อใจเพราะสั่งใครไม่ค่อยได้ (ผู้มีอิทธิพลเหนือประตูน้ำไม่ยอมทำตามสั่ง) มีคนเสนอให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ กลับถูกมองว่าต้องการเอาทหารเข้ามาวางกำลังเพื่อเตรียมปฏิวัติ (ไม่รู้มันใช้อะไรคิด)

นักข่าวก็ชอบเซ้าซี้ถามผู้บัญชาการทหารบก เกี่ยวกับเรื่องปฏิวัติ (ทำไมไม่ถามทหารเรือ ทหารอากาศบ้างก็ไม่รู้ ฮา) ถามอยู่นั่นแหละไม่รู้จักเบื่อจักหน่าย ทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าคำตอบคือปฏิเสธก็ยังถาม (คนจะปฏิวัติใครเขาจะเที่ยวโพนทะนาเล่า ถามให้ตายไม่มีทางบอก) อย่างนี้กระมังที่เรียกว่าถามโง่ๆ

หลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยขาดปฏิวัติ และ ไม่เคยขาดนักการเมืองขี้โกง ไม่อยากให้ทหารปฏิวัติ พอๆกับไม่อยากให้นักการเมืองโกง เพราะทั้งสองอย่างขัดขวางความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ทั้งยังเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของนานาอารยะประเทศ

ประชาธิปไตยดูเหมือนจะเป็นความหวังที่จะหยุดพวกเขาได้ แต่น่าเสียดายประชาชนส่วนใหญ่ไม่รังเกียจคนโกง

Competency ผู้นำ

ตุลาคม 14, 2011

Entry ที่แล้วพูดถึงหนังสือ “TQM ถ้าไม่ใหญ่จริงอย่าแหยม” ทำดัดจริตให้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “TQM : Only leader can make it happen and maintain” ก็เลยต้องอธิบายความหมายของคำว่า Leader (ผู้นำ) กันหน่อย

ว่ากันโดยหน้าที่ Leader รับผิดชอบในการเลือก หรือ กำหนดให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง (To do the right thing) ก่อนที่ผู้ตามจะนำไปปฏิบัติให้ถูกต้อง (To do the thing right) เช่น ผู้นำกำหนดว่าจะทำธุรกิจใด (The right business) ผู้ตามทำธุรกิจนั้นให้ได้กำไร (The right result) หรือ กรณีน้ำเหนือจำนวนมากไหลบ่าสู่ภาคกลาง ผู้นำเป็นผู้กำหนดว่าจะปล่อยให้ท่วมอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ หรือ เลือกที่จะรักษาส่วนหนึ่งส่วนใดไว้ (The right choice) ผู้ตามมีภารกิจทำให้เป็นไปดังที่ผู้นำกำหนด (The right result) เป็นต้น

ผู้นำจะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดีต้องมี “ความเป็นผู้นำ” (Leadership) ซึ่งแปลอย่างกำปั้นทุบดินว่า “ความสามารถในการสร้างผู้ตาม” อันเป็นความสามารถที่ทำให้พวกเขาคิด พูด หรือ ทำอะไรแล้วมีคนเอาไปเป็นตัวอย่าง หรือ ปฏิบัติตาม (คนที่คิด พูด หรือ ทำอะไรแล้วไม่มีคนตาม มิอาจเรียกตัวเองว่าผู้นำได้)

หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าผู้นำต้องได้รับความไว้วางใจ (Trust) ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเขามีคุณสมบัติต่อไปนี้

(1) ความคิดริเริ่ม คนจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำต้องริเริ่มทำโน่นทำนี่ก่อนคนอื่นเสมอ มิฉะนั้นจะเป็นได้เพียงผู้ตาม มีสำนวนอังกฤษว่า “If you don’t like to eat dust you have to make it” (เหมือนขับรถบนถนนดิน ถ้าไม่อยากกินฝุ่นก็ต้องขับนำหน้า)

(2) ความมั่นคง ผู้นำต้องมั่นคงทางความคิด คือยืนหยัดในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง มั่นคงทางการพูด และ การกระทำ ไม่กลับไปกลับมา ไม่โลเลโอนเอนเป็นไม้หลักปักเลน มั่นคงทางอารมณ์ คือสงบนิ่ง ไม่วูบวาบหวั่นไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ 

(3) ความกล้าหาญ ผู้นำต้องมีความกล้าหลายประการได้แก่ กล้าเผชิญปัญหา และ อุปสรรค กล้าแสดงความคิดเห็น ตำหนิติเตียน หรือ ชื่นชม กล้ายอมรับความผิดพลาด กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ กล้าสร้างความเปลี่ยนแปลง

คุณสมบัติทั้งสามประการดังกล่าวมีความรู้ (เก่ง) เจ็ดประการเป็นพื้นฐาน ประกอบด้วยรู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้คน และ รู้ชุมชน (สัปปุริสธรรม) ย่อเป็นสองประการคือ “รู้งาน” (เหตุ ผล ประมาณ กาล) กับ “รู้คน” (ตน คน ชุมชน)

นอกจากความรู้ หรือ ความเก่งที่ทำให้เกิดความคิดริเริ่ม ความมั่นคง และ ความกล้าหาญแล้ว ผู้นำจำเป็นต้องมี “ธัมมะ” (ดี) สำหรับผู้เป็นใหญ่อันได้แก่ “พรหมวิหาร” ด้วย ธัมมะนี้มีสี่ประการคือเมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา

เมตตาหมายถึงปรารถนาจะเห็นคนอื่นมีความสุข แต่ปรารถนาอย่างเดียวไม่พอต้องลงมือทำด้วยเรียกว่ามีกรุณา และ การชื่นชมยินดีเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุขเรียกว่ามีมุทิตา ธัมมะสองข้อแรกเป็นอุบายให้ลดการเห็นแก่ตัว ข้อสามเป็นอุบายให้ลดการอิจฉาริษยา ธัมมะสามประการนี้เปรียบเป็น “พระคุณ” ทำให้คน “รัก” แต่อาจเป็นประเภทลิงหลอกเจ้าได้ถ้าไม่มีธัมมะอีกหนึ่งข้อคืออุเบกขา (การวางเฉย) คอยกำกับ

อุเบกขาเป็นการวางเฉยต่อสิ่งกระทบ หรือ สิ่งเร้าจากภายนอก ทำให้ครองตนอยู่ในศีลในธรรมได้ รวมถึงการไม่ใช้พระคุณในทางผิด เช่น ไม่ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของโจร เป็นต้น อุเบกขาจึงเปรียบเสมือน “พระเดช” ทำให้คน “ยำเกรง”

พรหมวิหารทำให้คนทั้งรักทั้งยำเกรง จึงจัดเป็นธัมมะของผู้เป็นใหญ่ เมื่อรวมกับความรู้พื้นฐาน (เก่งคน เก่งงาน) ที่ทำให้มีความคิดริเริ่ม ความมั่นคง และ ความกล้าหาญแล้ว จะกลายเป็นสมรรถนะ หรือ Competency ที่ผู้ปรารถนาเป็นผู้นำพึงแสวงหาใส่ตัว

Competency ฤาถึงเวลาต้องเผาตำราทิ้ง

ตุลาคม 10, 2011

วันก่อนพูดถึงการวางแผนว่าหมายถึงให้คิดก่อนทำ เป็นการทำงานเขิงรุก (Proactive) หรือ เชิงป้องกัน (Preventive) ในระบบคุณภาพเรียกการประกันคุณภาพ (Quality assurance – QA) แปลว่าถ้าคิด (วางแผน) ดีแล้วเมื่อลงมือปฏิบัติจะไม่มีความผิดพลาด (หรือ มีน้อย) จะว่าเป็นการทำให้ถูกต้องตั้งแต่วาระแรกที่ทำ (Do it right at the first time) ก็ได้

คนจำนวนมากไม่ชอบทำงานแบบ QA เพราะทำแล้วไม่ค่อยมีปัญหาให้แก้ไข (ปัญหาได้รับการแก้ไขล่วงหน้าไปก่อน) ไม่มีอะไรตื่นเต้น สู้พวกทำแบบ QC (Quality control) ไม่ได้ ทำแล้วมีปัญหาก็แก้กันไป แก้สำเร็จถือว่าเก่งได้รับการยกย่องเป็น Hero ปิดทองหลังพระอย่างพวกทำแบบ QA ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ

วางแผนจะสำคัญอย่างไรก็ถือว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าปฏิบัติไม่ดีก็ล้มเหลวได้ จะปฏิบัติได้ดีแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ปฏิบัติมีสมรรถนะเหมาะกับงานหรือไม่ (พูดคำว่าสมรรถนะหลายคนงง มันอะไรกันแน่ แต่ถ้าบอกว่า Competency ทุกคนร้องอ๋อ อ๋อ…อะไรก็ไม่รู้ ฮา)

ก็อย่างนี้แหละคนไทย พูดภาษาไทยทำเป็นไม่รู้เรื่อง มีคำต่างด้าวปนเข้ามาหน่อยฟังมีระดับ (เหมือนดอกเตอร์บางคนชอบพูดไทยปนอังกฤษตลอดเวลา คงกลัวคนเขาว่าโง่ หารู้ไม่ว่ายิ่งพูดคนเขาก็ยิ่งฮา เพราะสำเนียงเหมือนตลก Café ไม่มีผิด ฮา)

ดอกเตอร์คนนั้นบุญมาวาสนาส่งได้เป็นรองนายกฯ ก็แสดงอาการกร่างสั่งย้ายผู้บัญชาการตำรวจฯ บอกว่าจะเอาไปเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยพูดเสียงดังฟังชัดว่า Put the right man to the right job คงมีเสียงท้วงติงว่าเอาตำรวจไปทำท่องเที่ยวมัน Put the right man to the right job ตรงไหนวะ เลยต้องเปลี่ยนใจเอาไปลงที่สภาความมั่นคงฯ

Put the right man to the right job คือใช้คนให้เหมาะกับงาน เป็นจุดเริ่มต้นของการบริหาร Performance (ภาษาอังกฤษอีกแล้ว แปลเป็นไทยว่าอะไรก็ไม่รู้) เครื่องมือที่ใช้ในการนี้คือสมรรถนะ หรือ Competency นั่นเอง หลักการคือหาคนที่มี Competency ตรงกับความต้องการของงาน เนื่องจากแต่ละงานต้องการผู้ปฏิบัติที่มี Competency ต่างกัน เช่น งานตอบโต้ภาวะฉุกเฉินต้องการคนที่ตัดสินใจว่องไว กล้าได้กล้าเสีย ฯลฯ

Competency มีองค์ประกอบสามประการได้แก่ (1) Desired behavior (พฤติกรรมที่พึงปรารถนา) (2) Professional quality (ความสามารถทำงานกับคน) และ (3) Functional skill (ความสามารถทำงานในหน้าที่) Competency นี้ภูมิปัญญาไทยท่านว่า เก่ง กับ ดี โดยเก่งมีสองประการคือ เก่งคน ที่เทียบได้กับปัจจัยที่สอง (Professional quality) กับ เก่งงาน ที่เทียบได้กับปัจจัยที่สาม (Functional skill) และ ดี ก็คือปัจจัยที่หนึ่ง (Desired behavior) นั่นเอง

เห็นองค์ประกอบใน Competency แล้วก็น่าเป็นห่วงคนที่ใช้เวลาสี่สิบกว่าวันก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการบริหาร ด้วยเกรงว่าเธอจะไม่มี Functional skill เพียงพอสำหรับงานนี้ ฤาถึงเวลาต้องเผาตำราทิ้ง

Quality awareness

ตุลาคม 7, 2011

ระยะหลังนี่ชีพจรลงเท้าต้องเดินทางออกต่างจังหวัดบ่อย ส่วนใหญ่ไปเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารคุณภาพในหัวข้อ Quality awareness (Qa) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนามาจากหนังสือ “TQM ถ้าไม่ใหญ่จริงอย่าแหยม” (เขียนจากประสบการณ์ของข้าพเจ้าเอง)

Qa แบ่งออกเป็นสอง Package ได้แก่ Qa1 สำหรับพนักงานใหม่ผู้ยังไม่คุ้นเคยกับระบบคุณภาพ กับ Qa2 สำหรับผู้บริหาร โดยภาพรวมทั้งสอง Package มีเนื้อหาเดียวกัน แต่เวลาสอนจะเน้นคนละจุด Qa1 เน้นที่ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับคุณภาพ และ ปฏิบัติ ส่วน Qa2 เน้นที่บริหาร และ บูรณาการ TQM กับ เครื่องมือการบริหารแบบอื่นๆ เช่น TQM กับ BSC

วันก่อนไปสอนพนักงานใหม่ (ใช้ Qa1) ช่วงหนึ่งพูดถึงการวางแผน จุดเริ่มต้นของวงจรคุณภาพ (PDCA) ว่าหมายถึงการหาเส้นทางที่จะเข้าสู่เป้าหมาย ซึ่งอธิบายว่าใคร (คน) ใช้อะไร (วัสดุ เครื่องจักร) ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และ อย่างไร (วิธีการ) อันเป็นการพรรณนาถึงความสัมพันธ์ของทรัพยากรทั้งสี่ (คน วัสดุ เครื่องจักร และ วิธีการ) โดยมีข้อกำหนด (Given – G) เกี่ยวกับทรัพยากรดังกล่าว เช่น ใช้คนกี่คน สมรรถภาพของเครื่องจักรเป็นอย่างไร ฯลฯ กับ ข้อสมมุติ (Assume – A) เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ เศรษฐกิจ ตลาด ฯลฯ เป็นเงื่อนไขแห่งความสำเร็จ

การวางแผนเท่ากับให้คิดก่อนทำ ถ้าคิดไว้อย่างดีมีเงื่อนไขแห่งความสำเร็จ (G & A) ที่เหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน เมื่อนำไปปฏิบัติจะได้ผลงานถูกต้องตรงกับเป้าหมาย (ความต้องการของลูกค้า)

เนื่องจากความไม่สมบูรณ์แบบของผู้วางแผน ประกอบกับความรู้ ประสบการณ์ และ ข้อมูลต่างๆที่นำมาสร้าง G & A เป็นความรู้ และ ข้อมูลในอดีต กับ ปัจจุบัน เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง (ในอนาคต) สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงจนทำให้ G & A ไม่เป็นไปตามที่กำหนด หรือ คาดหวัง ผลงานอาจผิดเป้าได้  จึงถือว่า G & A เป็นปัจจัยเสี่ยง (Risk factor)

เพื่อความไม่ประมาทเมื่อวางแผนต้องพิจารณาถึงเรื่องความเสี่ยง (Risk) ควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยหาทางทำให้ G (ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้) เป็นจริงตลอดอายุของแผน และ หาทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของ A (ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือการควบคุม) ด้วยการจัดทำแผนสำรอง (Back up plan – Plan B) และ แผนฉุกเฉิน (Emergency plan) เป็นต้นฯ

ก่อนถึงเวลาพักดื่มน้ำ ปัสสาวะ ลูกศิษย์คนหนึ่งเอ่ยออกมาลอยๆว่า สงสัยพวกนั้นคงไม่ได้ทำอย่างที่อาจารย์พูด ไม่ว่านโยบายพลังงาน บ้าน รถ ฯลฯ แค่เริ่มลงมือทำก็มีข้อบกพร่องให้ต้องแก้ไขกันชุลมุนวุ่นวายทุกเรื่อง ทำเหมือนไม่ได้คิดฯ

5555 อดไม่ได้จริงๆ

อย่ามัวแต่ปลื้มอยู่เลยปู

ตุลาคม 2, 2011

อ่านพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ (ภาพข้างล่าง) แล้วก็พลอยปลื้มปีติไปกับเธอด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูสถานการณ์น้ำท่วมแล้วก็ต้องขอบอกว่า  อย่ามัวแต่ปลื้มอยู่เลยปู

รีบก้มลงกราบพระบาท น้อมรับพระมหากรุณาธิคุณ แล้วนำพระราชกระแสไปปฏิบ้ติโดยไว

และ ถ้าสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ โปรดตั้งหน้าตั้งตาทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อทำให้พสกนิกรของพระองค์ท่านอยู่ดีกินดีกันถ้วนหน้า

ทั้งยังต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มิให้พวกจิตทรามมาจาบจ้วง ล่วงละเมิด เป็นอันขาด ใครกระทำการอันมิบังควรให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จับตัวมาลงโทษเสียให้เข็ด

ประชาธิปไตยเป็นภัยคุกคาม

กันยายน 29, 2011

เห็นชื่อเรื่องแล้วบางท่านคงสงสัยทำไมบ้านนี้ขวางโลก เพราะใครๆเขาก็ยกให้ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ถึงขั้นคนบนโลกนี้ทุกๆหนึ่งโหลอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเสียสิบคน อีกทั้งประเทศประชาธิปไตยก็ล้วนแล้วแต่มีเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง (ยกเว้นช่วงนี้ที่กำลังย่ำแย่กันไปทั้งโลก เพราะประมาทใช้เงินเกินตัวกันมานาน)

ใช่ว่าจะมีอคติต่อประชาธิปไตยก็หาไม่ แค่เห็นเงื่อนไขบางประการอันอาจทำให้ระบอบที่ดีแสนดีนี้กลับกลายเป็นภัยคุกคามเท่านั้นเอง เงื่อนไขที่ว่านั้นประกอบด้วย

1) เมื่อสังคมเต็มไปด้วยคนหย่อนคุณธรรม ยอมให้ผู้มีอำนาจทุจริต คอรัปชั่น ขอเพียงตัวเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์ด้วย

2) มีการยกย่องเทิดทูนคนรวยโดยไม่ใส่ใจที่มาของความมั่งคั่ง คนโกงได้รับการยอมรับนับถือ ให้ลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติ

3) มีความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้ใช้สิทธิเสรีภาพกันอย่างไร้ขอบเขต ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ

อันเป็นเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มใช้การเลือกตั้ง (ส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย) เป็นบันไดขึ้นสู่อำนาจเข้าครอบงำประเทศโดยจ่ายเงินซื้อเสียงเมื่อมีการเลือกตั้ง แล้วแสวงหาผลประโยชน์เข้าตน และ พวกพ้องด้วยการทุจริต คอรัปชั่น พร้อมๆกับใช้เงินของคนอื่น (ภาษี) มอมเมาประชาชนผ่านสารพัดโครงการประชานิยม จนติดกันงอมแงมแทบโงหัวไม่ขึ้น

เปิดโอกาสให้เกิดการเมืองข้างถนน ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย สร้างความวุ่นวายไม่รู้จบสิ้น เช่น การชุมนุมทางการเมืองที่ใช้ความเดือดร้อนของชาวบ้านเป็นข้อต่อรอง (เสมือนจับชาวบ้านเป็นตัวประกัน)

ทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการปลุกระดม และ ยุแยกให้แตกสามัคคี เช่น ตั้งวิทยุชุมชนเถื่อนขึ้นมาเผยแพร่ความรู้ อุดมการณ์ และ ข่าวสารที่บิดเบือน ด่าทอฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเสรี รวมถึงจัดตั้งหมู่บ้านเฉพาะคนบางกลุ่มสร้างความแตกแยกระหว่างคนในชาติ

ประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นภัยคุกคามทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยของสังคม และ ความมั่นคงของชาติ โดยมี “คน” เป็นต้นเหตุ

ถ้ารักประชาธิปไตยก็ต้องช่วยกันลดเงื่อนไขดังกล่าวลงด้วยการทำให้คนฉลาดขึ้น เชื่อกรรม พึ่งตนเอง จะได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีเหตุมีผล ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส รู้เท่าทันนักเลือกตั้งที่จ้องแสวงหาอำนาจ และ ผลประโยชน์  ไม่ตกเป็นเหยื่อของนักปลุกระดม พวกสร้างความแตกแยกในสังคม